เมื่อวิธีการหาความรู้ สำคัญกว่าความรู้...
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องการเรียนรู้จากปัญหา (Problem-Based Learning) หรือ PBL แต่จริงๆแล้ว การเรียนรู้จากปัญหา คืออะไร สำคัญกับอนาคตของเด็กๆ อย่างไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับทักษะแห่งศตวรรษท่ี 21?
ลองจินตนาการว่า .... ศตวรรษที่ 21 นั้นเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งชุดความรู้เดิมที่ถูกสอนกันมาไม่สามารถแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้อีกต่อไป การเรียนรู้ชุดความรู้ที่ตายตัวจากหลายทศวรรษก่อนหน้า จึงไม่สามารถทำให้เด็กๆ สามารถแก้ปัญหาในปัจจุบันหรืออนาคตได้ ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งการใช้ชีวิตของตนเอง การทำงาน และการขับเคลื่อนสังคม ดังนั้น การเรียนรู้จากปัญหา เพื่อให้เด็กๆ พัฒนาไปเป็นนักแก้ปัญหา จึงกลายเป็นรากฐานสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
การเรียนรู้จากปัญหา (Problem-Based Learning) หรือ PBL เป็นการเรียนรู้ที่เด็กๆ มีส่วนร่วมในการเลือกปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกจริง เช่น มลภาวะ สิ่งแวดล้อม ปัญหาในเชิงธุรกิจ เกษตรกรรม วิศวกรรม หรืออื่นๆตามความสนใจ ค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ ฝึกคิดวิเคราะห์ ทำงานร่วมกับเพื่อน และวางแผนในการแก้ปัญหาและติดตามผลค่ะ
จะเห็นได้ว่าการ การเรียนรู้จากปัญหา หรือ PBL ป็นวิธีการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กๆ มีโอกาสในการเลือกและคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับศตวรรษท่ี 21 ดังนั้นหลายโรงเรียนได้เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากวิธีการดั้งเดิมมาเป็น PBL หรือ Problem-Based Learning กันมากขึ้น แล้วในฐานะคุณพ่อคุณแม่ มีอะไรที่เราจะเตรียมพร้อมเพื่อช่วยให้ลูกเรียนรู้จากปัญหา และเป็นนักแก้ปัญหาได้ดีขึ้น?
การช่วยลูกให้เรียนรู้จากปัญหานั้นไม่ยากเลยค่ะ เป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวสามารถทำได้กับเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นประถมขึ้นไป และนอกจากจะได้ช่วยลูกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาแล้วยังเป็นกิจกรรมสนุกๆ เพื่อสานสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย
อย่างแรก คือการกำหนดปัญหาร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นตามความสนใจของเด็กๆ หรือความสนใจที่มีร่วมกันในครอบครัว ในหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่ ในตอนการเรียนรู้จากปัญหา โดย จอห์น แบเรล ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบหลักสูตรและการสอน จากมหาวิทยาลัย Montclair State University ได้กำหนดวิธีการค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาศึกษาแบบ PBL ซึ่งเรียกว่า แนวทางการสืบค้นแบบ KWHLAQ ซึ่งมี 6 ขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ
แนวทางการสืบค้นแบบ KWHLAQ
K - (know) คือการสำรวจความรู้เดิม หรือสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้เกี่ยวกับปัญหานั้นๆ
W - (want) คือสิ่งที่เราต้องรู้เพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ
H - (how) คือวิธีการว่าเราจะเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการนี้อย่างไร จะบริหารเวลาอย่างไร และจะประเมินความก้าวหน้าของการแก้ปัญหา ด้วยตนเองอย่างไร
L - (learning) คือการประเมินว่าเราได้เรียนรู้อะไรในแต่ละวัน และจะได้เรียนรู้อะไรเมื่อการเรียนรู้สิ้นสุด
A - (apply) คือวิธีการที่เราจะประยุกต์ใช้ผลลัพธ์จากการค้นว้านี้ในชีวิตประจำวันที่ไหนและอย่างไร
Q - (question) คือคำถามใหม่ที่เรามีในตอนนี้ หลังจากผ่านการค้นคว้ามาระยะหนึ่ง และวิธีการว่าเราจะติดตามคำถามนั้นต่อไปอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่อาจลองชวนลูกมากำหนดปัญหาร่วมกันตามความสนใจของเขา เช่น หากลูกเป็นเด็กที่รักสัตว์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนลูกคุยเรื่องปัญหาสัตว์จรจัด หรือหากลูกสนใจเรื่อง รถยนต์ อาจจะชวนคุยเรื่องเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ หรือหากลูกชอบเล่นขายของ อาจะชวนคุยเรื่องธุรกิจร้านอาหาร จากนั้นกำหนดหัวข้อการเรียนรู้ร่วมกัน และเริ่มค้นคว้าตามวิธีการของแบเรลได้เลยค่ะ
ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ ของคำถาม กิจกรรม บทสนทนา การค้นคว้า หรือแนวคิดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีการ Problem-Based Learning กับลูกในเรื่องธุรกิจร้านอาหารกันค่ะ
Problem - ลูกฝันอยากมีธุรกิจร้านอาหาร
K - (know) - เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหาร เช่น ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในร้านอาหาร (เชฟ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับ ผู้จัดการ ฯ), ร้านอาหารลักษณะต่างๆ (fine dining, คาเฟ่, ฟาสต์ฟู้ด ฯ), องค์ประกอบที่ทำให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จ (ทำเล, การบริการ, รสชาติ ฯ)
W - (want) - สิ่งที่เราต้องรู้เพิ่มขึ้นหากอยากเปิดร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ เช่น ทำเลที่ดีเลือกอย่างไร, ร้านอาหารแบบไหนที่เหมาะกับทำเลที่เราเลือก, ค่าเช่าที่ของร้านอาหารควรเป็นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับขนาดของร้าน เป็นต้น
H - (how) - วิธีการที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ เช่น เสิชกูเกิ้ล ดูบทสัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารชื่อดัง อ่านหนังสือธุรกิจ พาลูกไปคุยกับเจ้าของร้านอาหารที่พ่อแม่รู้จัก
L - (learning) - ประเมินว่าเราได้เรียนรู้อะไรในแต่ละวันจากการค้นคว้าตาม how
A - (apply) - ประยุกต์ใช้ผลลัพธ์จากการค้นคว้า อาจสมมุติว่าเราจะเปิดร้านจริงๆ หาทำเลที่มีอยู่จริง กำหนด concept ของร้านอาหาร หรือลองทำ business plan
Q - (question) - คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการค้นคว้าทั้งหมด เช่น ร้านอาหารแบบไหนที่จะเป็นที่นิยมในอนาคต เป็นต้น
หลายท่านอาจจะมองว่าปัญหาหรือคำถามเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว และอาจจะไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง แต่จริงๆ แล้วการที่คุณพ่อคุณแม่ได้ฝึกให้ลูกเรียนรู้จากปัญหาจะเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อเด็ก เพราะเด็กจะสามารถใช้วิธีเดียวกันกับปัญหาหรือตอบคำถามอื่นๆ ในชีวิตของเขา และบ่อยครั้งเด็กๆ ก็สามารถคิดวิธีการแก้ปัญหาที่เกินความคาดหมายของผู้ใหญ่ได้ ถ้าหากสามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริงก็จะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับเด็ก แต่ถ้าหากไม่ เด็กๆ ก็ยังได้ฝึกทักษะในอนาคตสำหรับตัวเขาเอง และยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูก ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปอยู่ในโลกของลูกได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความผูกพันธ์และความเชื่อมั่นที่ลูกมีต่อพ่อแม่ด้วยค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะไม่สามารถตอบคำถามของลูกได้ทุกข้อ เพราะในการเรียนรู้จากปัญหานั้นไม่ใช่การสอนแต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน หากมีคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถตอบได้ก็ค้นคว้าร่วมกันไปกับลูกเท่านั้นเองค่ะ ขอให้ทุกบ้านสนุกกับการเรียนรู้จากปัญหา หรือ Problem-Based Learning กันนะคะ
หากคุณพ่อคุณแม่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือ 21st Century Skills - ทักษะแห่งอนาคตใหม่ โดย James Bellanca และ Ron Brandt กดสั่งซื้อพร้อมส่วนลดได้เลยค่ะ
Comments