top of page
Search

3 วิธีรับมือเมื่อลูก “อยากซื้อ” ตลอดเวลา : การเงินสำหรับเด็กเริ่มได้ที่บ้าน

“แม่คะหนูอยากได้ตุ๊กตาตัวนั้น”

“พ่อครับผมขอเติมเงินเกมส์ได้มั้ย”



แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากเห็นลูกมีความสุข และอยากรู้สึกเป็นคนที่ให้ทุกอย่างกับลูกๆ รอยยิ้มของลูกๆ เวลาที่ได้ของที่อยากได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยิ้มตามไปด้วยได้เสมอใช่ไหมคะ แต่ในอีกด้านหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ทราบดีว่าการให้ทุกอย่างที่ลูกอยากได้ในทุกครั้งที่ขออาจจะสร้างผลเสียในระยะยาวกับลูกได้


งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่าความสามารถในการควบคุมตนเองของเด็ก โดยเฉพาะในการต่อต้านแรงกระตุ้นและควบคุมอารมณ์ เป็นตัวกำหนดอนาคตของเด็กคนนั้นได้มากกว่าความฉลาดทางสติปัญญา โดยระบุว่าเด็กที่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์มักจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีกว่าและมีการเงินที่มั่นคงกว่าเด็กที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้


ความสามารถในการควบคุมตนเองนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งใน Executive Functions หรือ EF ที่ทุกคนคุ้นหูกันดีนั่นเองค่ะ


ในความเป็นจริงการปฏิเสธคำขอของลูกที่ตื๊อให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อของให้เวลาไปห้างสรรพสินค้า หรือทุกครั้งที่เห็นเพื่อนมีของเล่นใหม่ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก วันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ มาฝากกันค่ะ


ถ้าลูกเกิดความอยากได้ของอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา หรืออยากซื้อของเล่นบ่อยๆ วิธีสื่อสารที่พ่อแม่ทำได้คือ


  1. ยอมรับในความอยากได้ แทนที่จะปฏิเสธด้วยคำว่า “ไม่” หรือ “อยากได้ของไร้สาระอีกแล้วหรอ” อาจจะลองพูดว่า “จักรยานคันนี้มันดูสวยดีจริงๆ นั่นแหละ หนูก็เลยอยากได้ใช่มั้ย” เพราะบางครั้งแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราก็ยังอยากได้ของที่ไม่มีประโยชน์เลยจริงไหมคะ และถ้าหากมีคนมาบอกว่าความอยากได้ของเราช่างไร้สาระเหลือเกิน เราคงรู้สึกไม่ดีแน่ๆ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถแสดงความเข้าใจและเห็นใจกับลูกได้ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าคุณพ่อคุณแม่จะซื้อของชิ้นนั้นให้ค่ะ

  2. ให้ทางเลือกเพื่อเปลี่ยนโฟกัส คุณพ่อคุณแม่อาจจะเสนอว่า “หนูอยากให้แม่จดไว้เป็นรายการของขวัญวันเกิด หรืออยากจะเริ่มเก็บเงินซื้อเอง” คำถามนี้จะทำให้ลูกคิดถึงเหตุการณ์ในอนาคตมากกว่าความอยากได้ ณ ขณะนั้น

  3. ทำให้เห็น ว่าคุณพ่อคุณแม่จริงจังกับคำตอบของลูก เช่นถ้าลูกตอบว่าขอเก็บเงินซื้อเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเสนอความช่วยเหลือในการวางแผนเก็บเงินกับลูก โดยให้ลูกมีส่วนในการตัดสินใจว่าอยากเก็บเท่าไหร่ต่อวัน วิธีนี้จะเปลี่ยนจากความต้องการชั่วครู่ชั่วคราวของลูกมาเป็นความมุ่งมั่นที่จะทำตามเป้าหมาย ถ้าลูกขอใส่ไว้ในลิสต์ของขวัญวันเกิด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจดลงไปในโทรศัพท์ให้ลูกเห็นทันที เมื่อเวลาผ่านไป สัก 1-2 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจจะมาไล่ดูสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในลิสต์กับลูก อาจจะจกลงร่วมกันว่าคุณแม่จะซื้อให้แค่ 1,2 หรือ 3 ชิ้นเท่านั้น และคุยกันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ลูกยังอยากได้หรือไม่อยากได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะแปลกใจก็ได้ที่ลูกเองก็ลืมไปแล้วว่าเคยอยากได้ของเหล่านั้นด้วยค่ะ


ลองนำไปใช้กันดูนะคะ เราหวังว่าเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านค่ะ


เริ่มสร้างทักษะทางการเงินให้ลูกตั้งแต่วันนี้ แชทกับเราเลยค่ะ



137 views0 comments
bottom of page