top of page
Search
Namfon Goodey

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง ฉบับคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

Updated: Dec 19, 2022

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" ซึ่งหากได้ค้นหาข้อมูลก็อาจจะพบคำอธิบายที่ดูห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเรา แต่จริงๆแล้วทักษะแห่งศตวรษที่ 21 เป็นสิ่งที่กำลังมีบทบาทและเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราเป็นอย่างมากเลยค่ะ



ลองนึกถึงภาพยนต์ที่ตัวละครจากอดีตหลุดเข้ามาในโลกปัจจุบันและต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่จนเกิดเรื่องราววุ่นๆ ตามมามากมาย เรื่องราวเหล่านี้เมื่อเกิดในหนังก็ดูเป็นเรื่องสนุกดีใช่ไหมคะ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในชีวิตจริงคงไม่สนุกแน่นอน


วิธีการเรียนรู้ที่กำลังเปลี่ยนไป...


ในสมัยที่คุณพ่อคุณแม่เรียนหนังสือในโรงเรียน เมื่อใกล้ถึงวันสอบสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำก็คือการท่องตำราเพื่อไปทำข้อสอบ คนที่ท่องเก่งหรือขยันท่องก็จะจำได้มาก ตอบได้มาก และทำคะแนนได้มาก และถือเป็นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จหากวัดด้วยเกณฑ์ความสามารถในการจำ ซึ่งในยุคสมัยนั้นก็เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะใครสะสมความรู้ไว้มากก็สามารถนำความรู้นั้นไปใช้กับการทำงานหรือแก้ปัญหาต่างๆได้


แต่ในปัจจุบันที่ความรู้แทบทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ความสามารถในการจำจึงอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นการค้นพบใหม่ๆ ยังทำให้ความรู้เดิมถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆ กับปัญหาใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้นตามการเปลี่ยนแลงของยุคสมัย สิ่งที่เราเคยเรียนรู้ในตำราจึงอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้ เหมือนเอาตัวละครที่เป็นนักรบจากยุคโบราณมารบด้วยอาวุธนิวเคลียร์


คำถามคือแล้วการเรียนรู้แบบไหนล่ะที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถใช้ชีวิตและแก้ปัญหาที่จะเจอได้อย่างมีประสิทธิภาพ?


ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ได้มีการพูดถึงกลุ่มทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต และรูปแบบการเรียนการสอนที่จะต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม โดยเรียกกลุ่มทักษะเหล่านี้ว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21


ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้


  1. ทักษะการเรียนรู้ หรือ 4 C’s

  2. ทักษะด้านสาระสนเทศ หรือ IMT

  3. ทักษะชีวิต หรือ FLIPS

แต่ละกลุ่มประกอบด้วยทักษะย่อยดังนี้


1. ทักษะการเรียนรู้ หรือ 4 C’s แบ่งเป็น 4 อย่าง ได้แก่


1.1. Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา

1.2. Creativity ความคิดสร้างสรรค์

1.3. Collaboration การทำงานร่วมกับคนอื่น

1.4. Communication ทักษะการสื่อสารกับคนอื่น


ทักษะการเรียนรู้ หรือ 4 C’s เป็นทักษะที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นทักษะที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุด และมีผลต่อการประสบความสำเร็จไม่ว่าจะทางการเรียนหรือการทำงานของเด็กคนหนึ่งมากที่สุด


1.1. Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ คือ ความสามารถในการประเมิน ตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น แยกแยะข้อมูลที่ได้รับ และหาทางแก้ไข


การคิดวิพากษ์เป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล การคิดวิพากษ์จะช่วยให้เด็กๆ มีวิจารณญาณ สามารถเชื่อมโยงตรรกะได้อย่างมีเหตุผล สามารถสร้างและวิเคระห์ข้อโต้แย้ง และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีระบบ ยิ่งไปกว่านั้นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่โลกต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือปัญหาที่ยากๆ ที่ต่างจากอดีต การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้เราสามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้


เด็กๆ อาจจะสร้างทักษะการคิดวิพากษ์จากการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรืออาจฝึกโดยการมองหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะวิธีไหน การมีทักษะการคิดวิพากษ์ จะช่วยให้เด็กๆ สามารถคิดได้อย่างเป็นอิรสะและเป็นตัวของตัวเอง


1.2. Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ ในอดีตเมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ ในอดีตเรามักจะคิดว่ามันเป็นพรสวรรค์หรือคิดถึงอาชีพที่เกี่ยวกับศิลปะ แต่จริงๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์นั้นยังหมายถึงความสามารถที่จะมองปัญหาต่างๆ จากหลายมุมมอง ซึ่งอาจจะป็นมุมมองที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน ซึ่งเป็นทักษะที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และนำไปใช้กับทุกด้านในชีวิตได้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร


เด็กๆ อาจฝึกการแก้ปัญหาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองสนใจ เช่น เด็กชั้นประถม 5 ในรัฐแคนซัส ชอบปลาโลมา และเห็นข่าวปลาโลมาที่ตายจากการบาดเจ็บ จึงเสนอว่าเราควรทำหางเทียมให้กับปลาโลมาเพื่อต่อชีวิตของพวกมันเป็นต้น


1.3. Collaboration หรือความร่วมมือกัน คือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่มีร่วมกัน

การร่วมมือทำงานเป็นสิ่งสำคัญเพราะไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็จะต้องมีจุดใดจุดหนึ่งที่เราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นเสมอ การฝึกการทำงานร่วมกันจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจวิธีการนำเสนอสิ่งที่เป็นปัญหา เสนอทางแก้ไข และตัดสินเลือกวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงการต้องละวางไอเดียบางอย่างของเราและทำตามความเห็นของคนส่วนใหญ่เพื่อให้งานสำเร็จ

1.4. Communication ทักษะการสื่อสาร คือสามารถในการถ่ายทอดความคิดของเราให้คนอื่นเข้าใจอย่างชัดเจนและตรงประเด็น


เพราะการสื่อสารไม่ได้หมายถึง การพูด เขียน หรือแสดงออกในสิ่งที่เราคิดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำให้ผู้รับสารเข้าใจตามความหมายที่เราต้องการด้วย ทักษะการสื่อสารจึงหมายถึงการสื่อสารอย่างตรงประเด็น และเข้าใจและเข้าถึงผู้ฟัง และสังเกตว่าผู้ฟังกำลังเข้าใจอย่างถูกต้องหรือไม่ด้วย การสื่อสารที่ดีจะทำให้ทั้งผู้สื่อสารและผู้รับสารเข้าใจตรงกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เรามีรูปแบบการสื่อสารหลากหลายให้เราเลือกใช้ เช่น instant messaging, email, social media ซึ่งรูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ ก็ต้องการวิธีการถ่ายทอดต่างกันไป จึงเป็นเวลาที่ทักษะการสื่อสารมีบทบาทสำคัญมากกว่าเวลาใดๆ ในอดีต


ทักษะ 4 C’s ทำให้เด็กๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แม้ทักษะ 4 C’s จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมเมื่อเทียบกับชุดความรู้เดิมที่คุณพ่อคุณแม่เคยเรียนเมื่อยังเด็ก เช่น อัลจีบรา หรือ present simple tense แต่ ทักษะ 4 C’sเป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมีในอนาคตไม่ว่าจะใช้กับเรื่องใดในชีวิต


Critical thinking ช่วยให้เรารู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ และไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

Creativity ช่วยให้เราพบวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ

Collaboration ช่วยให้เราทำงานร่วมกับคนอื่นเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า

Communication ช่วยให้เราสามารถสื่อสารไอเดียของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เรียกได้ว่าทักษะ 4 C’s เป็นพื้นฐานของความสำเร็จในโลกยุคใหม่เลยทีเดียวค่ะ


2. ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี หรือ IMT แบ่งเป็น 3 อย่าง ได้แก่


2.1. Information Literacy ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ

2.2. Media Literacy ความรู้เท่าทันสื่อ

2.3. Technology Literacy ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ


2.1. Information Literacy คือความสามารถที่จะแสวงหา แยกแยะ หาแหล่งที่มา ประเมินความน่าเชื่อถือ และใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์

ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้เด็กๆ สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงและอะไรเป็นความคิดเห็นหรือความเชื่อ เพราะในโลกปัจจุบันที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเมื่อ ความสามารถในการระบุได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จจะช่วยป้องกันการตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ไม่หวังดีได้


2.2. Media Literacy คือการเข้าใจว่าสื่อที่เรารับ ไม่ว่าจะผ่านการดู อ่าน หรือฟัง มีที่มาที่ไปอย่างไร ถูกผลิตขึ้นอย่างไรและสามารถบอกได้ว่าสื่อนั้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน สามารถบอกได้ว่าสื่อไหนเป็นโฆษณาชวนเชื่อ มีการบิดเบือนข้อมูลหรือทำขึ้นด้วยอคติต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


นอกจากนั้น Media Literacy ยังทำให้เด็กๆ สามารถวิเคราะห์สารที่รับมา และสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้วยตัวเองอีกด้วย

2.3. Technology Literacy คือการเรียนรู้เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างและถ่ายทอดข้อมูลในยุคปัจจุบัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีนั่นเอง เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าเครื่องมือใดใช้ทำอะไรได้และเพราะเหตุใด ในอดีตความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีถูกจำกัดไว้เฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน Technology Literacy เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมี และจะทำให้เด็กๆ เข้าใจเครื่องมืออันทรงพลังที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนโลก และสามารถใช้เครื่องมือนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


3. ทักษะชีวิต (FLIPS) แบ่งเป็น 5 อย่าง ได้แก่


3.1. Flexibility ความยืดหยุ่น

3.2. Leadership ความเป็นผู้นำ

3.3. Initiative ความคิดริเริ่ม

3.4. Productivity ความสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.5. Social Skills ความสามารถในการเข้าสังคม


ทักษะชีวิตเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัยส่วนบุคคลค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นกลุ่มทักษะที่เมื่อได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีแล้วจะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ และทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้มา ให้เด็กๆ นำไปใช้ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้


3.1. Flexibility ความยืดหยุ่น คือความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในโลกที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ ความยืดหยุ่นยังหมายถึง ความสามารถในการยอมรับว่าสิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ความยืดหยุ่นจะทำให้เรายอมรับและปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้

ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะความสามารถในการรู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องปรับตัว ปรับตัวอย่างไร และเราควรตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะมีประโยชน์ต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างมหาศาล

3.2. Leadership ความเป็นผู้นำ คือความสามารถในการตั้งเป้าหมายและชักนำคนอื่นๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นร่วมกัน


นอกจากนี้ การเรียนเรื่องรู้ภาวะผู้นำ ยังทำให้เด็กๆ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และทำให้สามารถเป็นผู้ตามที่ดีเมื่อยังอยู่ในสถานะผู้ตามได้ด้วย

3.3. Initiative คือความคิดที่จะเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตัวเอง ความคิดริเริ่มไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติกับทุกคน เด็กๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะนี้ การมีความคิดริเริ่มอาจจะหมายถึงการที่เด็กๆ ต้องทำโปรเจคนอกเหนือจากการเรียนปกติที่โรงเรียน หรือต้องทำงานมากกว่าคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็จะได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์หรือได้ผลตอบแทนมากกว่าคนอื่นๆ การมีความคิดริเริ่ม เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่เราจะพบเห็นในคนที่ประสบความสำเร็จแทบจะทุกคน


3.4. Productivity คือความสามารถทำงานให้สำเร็จในเวลาที่เหมาะสม ในเชิงธุรกิจมักใช้คำว่า “ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ” พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการทำงานจำนวนมาก ในเวลาที่น้อยนั่นเอง ความเข้าใจในเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เด็กๆ ค้นพบวิธีการทำงานที่ดีที่สุดของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็สังเกตวิธีทำงานที่ดีที่สุดของเพื่อนๆ ด้วย

3.5. Social Skills หรือความสามารถในการเข้าสังคม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในโลกของธุรกิจ เด็กๆ หลายคนมีทักษะทางสังคมโดยธรรมชาติ ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างไรก็ตามเด็กๆ ส่วนใหญ่ควรได้รับการสอนหรือการฝึกฝนจากโรงเรียนหรือครอบครัว


คุณพ่อคุณแม่พอจะนึกภาพออกแล้วใช่ไหมคะว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้างและมีความสำคัญต่อลูกๆ ของเราในอนาคต อย่างไร

คำถามก็คือ ลูกๆ ของเราได้เรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เหล่านี้แล้วหรือยัง? และเราจะช่วยลูกให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร?








51 views1 comment

1件のコメント


Wathan Wathan Kwankaw
Wathan Wathan Kwankaw
2022年12月22日

ให้ความรู้ดีมากๆ เลยค่ะ

いいね!
bottom of page